Friday, February 21, 2014

การเงินการคลัง ต่างกับ การเงินการธนาคาร อย่างไร ?



การเงินการคลัง ต่างกับ การเงินการธนาคาร อย่างไร ?

ผู้เขียน นาวิน กฤตรัชตนันต์

ขอขอบคุณ ภัทริดา แตงเขียว ตรวจเนื้อหา

 

สองคำนี้มักจะถูกพูดกันอย่างติดปาก แต่หลายคนอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง โดยเฉพาะคำว่า “การเงิน” ที่อาจแปลมาจากคำว่า Monetary และ Finance เหมือนกัน ในเบื้องต้นให้ผู้อ่านมองถึงเศรษฐกิจในระดับมหภาค หรือ ระดับประเทศ ความสัมพันธ์หนึ่งที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและระบบเศรษฐกิจ ภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคซึ่งประกอบไปด้วย นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) และนโยบายการเงิน (Monetary Policy) ซึ่งคำสองคำนี้รวมเป็น การเงินการคลัง หรือนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) คำนี้คนไทยจะคุ้นเคยมาก่อน สืบเนื่องจากตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ปกครองระบบจตุสดมภ์ ที่มีกรมคลัง โดยมีขุนคลังทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันคลัง ทำหน้าที่ดูแลใช้จ่ายเงินของประเทศที่มาจากการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียม  โดยรายจ่ายหลักคือการลงทุนของภาครัฐ และกิจการรัฐอื่นๆ อาทิ เงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการสุขภาพ และนโยบายต่างๆที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสวัสดิการของสังคม กล่าวโดยสรุป นโยบายการคลังจึงเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี และการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นเครื่องมือ เพื่อใช้และบริหารในกิจกรรมต่างๆ โดยในมุมมองทางทฤษฎีคือ การควบคุมให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ หากรัฐบาลลดภาษี หรือเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ จะเป็นนโยบายการคลังแบบขยายตัว ในทางตรงกันข้ามคือ นโยบายการคลังแบบหดตัว โดยนโยบายการคลังจะกระทบโดยตรงกับภาคเศรษฐกิจจริงโดยตรง นอกจากการจัดเก็บภาษีแล้ว อีกช่องทางการหาเงินของรัฐบาล คือการกู้โดยใช้พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นที่นิยมของนักลงทุนที่ไม่นิยมความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ข้าราชการเกษียณ หรือในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูง นักลงทุนมักจะเลือกลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาล มากกว่าเครื่องมือการลงทุนชนิดอื่นๆ
การกู้เงินของรัฐบาลโดยใช้เครดิตของประเทศ เรียกว่า การก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งสิ่งนี้มีบทบาทสำคัญ นำไปสู่ข้อถกเถียงว่า “ควรจะก่อหนี้สารธารณะเพิ่มหรือไม่” และ “เวลาที่เหมาะสมของการก่อหรือลดหนี้คือเมื่อไหร่” ยังไม่นับรวมอีกว่า นโยบายหรือโครงการที่ทำ จะเหมาะสมกับเวลา จะมีประสิทธิภาพ จะเสมอภาค จะควบคุมคอรัปชั่นได้ดี และ จะไม่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือไม่ ? โดยคำถามเหล่านั้นคือต้นทุนที่ต้องแลกกับ ความคาดหวังให้ประเทศพัฒนาผ่านการลงทุนโดยรัฐ     
นโยบายการเงิน (Monetary Policy) คือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสัมพันธ์กับมูลค่าของเงิน และราคาของเงินคือ อัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการเงินทุนเข้าออกประเทศในระบบเศรษฐกิจ ปริมาณเงินในระบบส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ผู้ควบคุมคือธนาคารกลาง (Central Bank) โดยประเทศไทยคือธนาคารแห่งประเทศไทย หากปริมาณเงินในระบบเศษฐกิจมาก จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย (ราคาของเงิน) ลดต่ำลง คือ นโยบายการเงินแบบขยายตัว ซึ่งต้องตั้งรับกับผลของเงินเฟ้อที่จะอาจสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามคือการดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัว  โดยนโยบายการเงินจะกระทบกับตลาดการเงินก่อน
นโยบายเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าว แม้จะถูกควบคุมโดยองค์การที่แตกต่าง และเป็นอิสระต่อกันในทางทฤษฎี แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี เช่น ปัญหาด้านการกระจายรายได้ และปัญหาสินค้าสาธารณะ เป็นต้น  ซึ่งในบางครั้งสององค์กรอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีจุดประสงค์และ คุณค่าที่ยึดถือต่างกัน โดยกระทรวงการคลัง มีแนวโน้มที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนเนื่องจากรัฐมนตรีมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่ธนาคารกลาง จะเน้นในทางเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีมากกว่า ทั้งนี้ทั้งสองเครื่องมือ คือเครื่องมือที่จะลดความรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้เครื่องมือทั้งสองต่างก็คือเครื่องมือที่แทรกแซงกลไกตลาดทั้งสิ้น และยังมีความเชื่อในข้อเสียของนโยบายจากภาครัฐที่กลุ่มนี้กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายจากภาครัฐแต่อย่างใดหากเปรียบเทียบกับต้นทุนและความเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญ
อีกคำคือ คำว่า การเงินการธนาคาร (Finance and Banking) ซึ่งเป็นเรื่องที่เล็กลงมาในระดับธุรกิจกล่าวคือไม่ใช่มุมมองในระดับชาติ คำว่าการเงินนี้สร้างความสับสน เนื่องจากภาษาไทยใช้คำว่าการเงิน เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริง ควรเรียกให้ถูกว่าเป็น นโยบายการเงิน (Monetary) หรือการเงิน (Finance)
การเงิน (Finance) ในมุมมองผู้เขียนคือ การประเมินมูลค่า หรือ Valuation  ทั้งสิ้น การเงินประกอบไปด้วย การเงินบริษัท (Corporate Finance) ส่วนนี้หากทำงานในบริษัทใหญ่ๆ จะรู้จักคือ CFO (Chief Financial Organizer) เน้นเรื่องการจัดการเงินสำหรับธุรกิจ การเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) การจัดการสุขภาพทางการเงินในระดับบุคคล การเงินธนาคาร (Finance and Banking) คือการทำหน้าที่บริการทางการเงินในฐานะคนกลางทางการเงินที่เชื่อมระหว่างผู้มีเงินแต่ไม่มีความคิดลงทุน กับ ผู้มีความคิดจะลงทุนแต่ไม่มีเงินพอ ซึ่งระบบการเงินการธนาคาร นี้ก็มีความสลับซับซ้อนและน่าสนใจไม่ต่างจากนโยบายการเงินการคลัง หากบอกว่าเศรษฐกิจของหลายๆประเทศพังได้จากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐเป็นหลัก ตัวอย่างที่ผ่านมาไม่นานคือ ประเทศกรีซ โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ ต้อนกำเนิดจากวิกฤติหนี้สาธารณะ นำไปสู่ Eurozone Crisis กลางปี 2010 หรือหากต้องการศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากระบบการเงินการธนาคารเป็นหลัก คือ Subprime Crisis (Hamburger Crisis) หรือ Global Financial Crisis ที่เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ปลายปี 2008 ผู้เขียนแนะนำภาพยนต์ Inside Job เป็นภาพยนต์สารคดี สัมภาษณ์ตัวบุคคลจริงเกี่ยวกับวิกฤติการเงินโลก และ Margin Call เป็นภาพยนต์ Fiction ที่อ้างว่า เหตุการต่างๆเหล่านี้คือเหตุการณ์ 12 ชั่วโมงแรกของวิกฤติการเงินโลกปี 2008
ในบทความนี้คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายของคำต่างดังกล่าวนี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคำว่า Finance ที่หลายท่านมักจะเข้าใจว่าเกี่ยวกับการเอารถยนต์ไปทำ ไฟแนนซ์ และนำเสนอความน่าสนใจของศาสตร์ทางด้าน เศรษฐศาสตร์นโยบายการเงิน การคลัง และ การเงิน (Finance).

No comments:

Post a Comment